Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Time out หรือ การเข้ามุม เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกน้อย ที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์

Posted By Plook TCAS | 15 ก.ย. 66
5,803 Views

  Favorite

          “Time out” หรือ “การเข้ามุม” คำนี้กำลังมาแรงแซงทุกรูปแบบการลงโทษลูก เป็นวิธีการปรับพฤติกรรมลูกที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่พ่อแม่ยุคใหม่ ยิ่งมีผลวิจัยออกมารองรับแล้วด้วยว่า การลงโทษแบบสมัยก่อนที่ใช้การตี มีไม้เรียวเป็นเครื่องมือเลี้ยงลูก หรือการดุด่าว่ากล่าวแผดเสียงตะเบงใส่ลูก ไม่ได้เป็นวิธีที่ได้ผลเสมอไป แถมยังเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้เด็กทางอ้อมอีกด้วย ดังนั้นเราลองมาเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ของการเข้ามุม ว่ามีรายละเอียดที่ต้องรู้และเข้าใจในเรื่องอะไรบ้าง มาติดตามกันได้ในบทความนี้ค่ะ

 

เข้ามุมคืออะไร แต่รับรอบว่าไม่ใช่การกักบริเวณแน่นอน  

          การเข้ามุมเป็นรูปแบบการปรับพฤติกรรมของลูกวิธีหนึ่ง ทำได้โดยการการแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสงบลง และดึงความสามารถในการความคุมตัวเองของลูกออกมา เป็นการหยุดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของลูก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เรียกร้องความสนใจ ร้องไห้งอแงเอาแต่ใจ เพื่อช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์ลงได้ แต่ข้อสำคัญ...ห้ามกักขังลูกไว้ภายในห้องปิดเด็ดขาด!  เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง ถูกขับไล่ พ่อแม่ไม่รัก รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ แต่บอกเลยว่าความรู้สึกแบบนี้อันตรายต่อหัวใจดวงน้อย ๆ ของลูกมาก และจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมเข้าไปอีก ทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว ที่ความเจ็บจะฝังตัวเกาะติดอยู่กับความทรงจำของลูกน้อย

 

สิ่งที่ต้องระวังเมื่อใช้ Time out

          ขอย้ำและให้นำมาเป็นกฎเหล็กเลยว่า การเข้ามุม ไม่ใช่การลงโทษด้วยการกักบริเวณ เป็นเพียงแค่การปรับพฤติกรรมเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เด็กออกจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และไปจัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของตัวเอง สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่จะต้องให้ลูกได้เรียนรู้ถึงความผิดที่ตัวเองทำลงไป หรือเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์หงุดหงิด งอแง ขุ่นมัวของตัวเอง หากเขาไม่ได้เรียนรู้หรือสำนึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไปอย่างจริงจัง เพียงแค่เดินเข้ามุมทุกทีที่โดนสั่ง แบบนี้ลูกน้อยจะไม่สามารถกำจัดพฤติกรรมก้าวร้าวออกจากตัวเองได้ ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงควรให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ไม่ควรใจอ่อนกับเด็กจนเกินไป จนทำให้เด็กเสียนิสัยว่าเมื่อคนหนึ่งลงโทษ จะมีอีกคนคอยปกป้องเสมอ และเด็กจะไม่เรียนรู้ในสิ่งผิดที่ตัวเองทำ และแยกแยะไม่ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง

 

ขั้นตอนของการเข้ามุม

1. เลือกช่วงอายุ

เลือกช่วงอายุให้เหมาะสม วิธีนี้สามารถเริ่มใช้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป หรือกับเด็กที่เริ่มเข้าใจภาษาแล้ว ฟังรู้เรื่องแล้ว

 

2. สร้างกติกา

ให้คุณพ่อคุณแม่สร้างกติกากับลูก ตกลงกันให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมอะไรที่ทำแล้วลูกจะต้องไปเข้ามุม สงบอารมณ์ของตัวเอง โดยคุยกับลูกตอนที่เขายังอารมณ์ดี มีความสุข ค่อย ๆ ปลูกฝังให้เขายอมรับร่วมกับเราว่า อะไรคือพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ และถ้าทำแล้ว จะต้องถูกลงโทษปรับพฤติกรรมด้วยการเข้ามุม  เช่น ร้องไห้ไม่มีเหตุผล  ขว้างปาข้าวของ กรีดร้องเอาแต่ใจ

 

3. พาลูกเข้ามุม

เมื่อลูกน้อยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามที่ได้เคยตกลงสร้างกติกากันไว้ แปลว่าได้เวลาต้องเข้ามุมกันแล้ว ให้พ่อแม่ใช้คำพูดสั้น ๆ เช่น “กรีดร้องอีกแล้ว ไปเข้ามุมค่ะลูก” จากนั้นให้พาลูกเข้าสู่มุมที่สงบของบ้าน หรือนั่งที่เก้าอี้ที่วางแยกออกไป เพื่อให้เขาหยุดร้องและสงบลง โดยการแยกลูกนั้น ให้แยกเขาไปนั่งในบริเวณส่วนตัวที่ยังสามารถมองเห็นได้ แต่อย่าทิ้งหรือขังไว้ในห้องเพียงคนเดียว ส่วนพ่อแม่ก็ทำกิจวัตรประจำวันไปตามปกติ จะได้สงบสติกันทั้งสองผ่าย

 

4. รอพายุสงบ เพื่อเจอท้องฟ้าที่สดใส

เมื่อพายุอารมณ์ของลูกสงบลง ให้เรียกลูกออกมาจากจุดที่เข้ามุม พร้อมทั้งพูดคุยกับเขาว่า “อารมณ์ดีขึ้นแล้วใช่ไหมลูก มากอดกันนะ แม่รักหนูที่สุดนะคะ” เป็นการเช็กว่าเขาสามารถสงบสติอารมณ์ได้จริงหรือไม่ มีอาการขัดขืน ตัวแข็ง หรือต่อต้านอะไรตามมาหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็แปลว่า การเข้ามุมสำเร็จไปด้วยดี แต่ถ้ามีก็ต้องค่อย ๆ สอนให้ลูกทำความเข้าใจ

 

5. ปิดท้ายด้วยการกอดเสมอ

การโอบกอดและพูดคุยกันด้วยเหตุผลหลังจากที่ลูกสงบสติอารมณ์ได้แล้ว เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง เหมือนเป็นการถอดบทเรียน และควรทำทุกครั้งที่มีการเข้ามุม ไม่ควรทำให้ลูกสับสนหรือสงสัยว่าเขาทำผิดอะไร ควรมีการพูดคุยกันอย่างอ่อนโยนถึงเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น พร้อมอ้อมกอดที่แสนจะอบอุ่น เต็มไปด้วยความรักด้วยเหตุผล ว่าสิ่งที่เขาทำลงไปไม่เหมาะสมอย่างไร ข้อสำคัญอย่าลืมชมเชยลูกทุกครั้งเมื่อเขาสามารถสงบสติอารมณ์ลงได้ และต้องยืนยันว่าพวกคุณยังคงรักเขาอยู่เสมอ อยากให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อที่เขาจะได้เป็นที่รักของคนอื่นด้วยเช่นกัน

 

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้ามุม

วิธีกำหนดเวลาเข้ามุม สามารถกำหนดตามอายุลูกได้เลย เช่น ถ้าลูกมีอายุ 2 ขวบก็ให้นั่งเข้ามุมอยู่ 2 นาที แต่ความจริงแล้ว เรื่องเวลาสำหรับการเข้ามุมไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าเท่าไหร่คือเหมาะสม เท่าไหร่คือน้อยเกินไป แต่โดยรวมไม่ควรมากเกิน 15 นาที ปัจจัยสำคัญคือเด็กต้องสงบสติอารมณ์ได้จริง ๆ ภายในระยะเวลาที่พ่อแม่เลือกกำหนด ไม่ใช่แค่โดนกันออกจากสิ่งรอบข้างเหมือนได้รับการลงโทษ ถ้าจะให้ดีควรมีนาฬิกาอยู่ในบริเวณที่ทั้งคุณและลูกมองเห็นได้ถนัด ยิ่งเป็นตัวเลขก็ยิ่งดี เด็กที่เริ่มอ่านตัวเลขเป็นแล้วจะได้ไม่รู้สึกว่า เขาถูกโกงเวลา และไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ผิดสัญญาด้วยการทำโทษเขาเกินเวลา การเต็มใจยอมรับกติกาก็จะง่ายขึ้นและเกิดประโยชน์มากขึ้น

 

Time out แล้ว ก็ต้องมี Time in ด้วยนะ

การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูกจะไม่ได้ผลเลย ถ้ามัวแต่โฟกัสแต่ในพฤติกรรมด้านลบของลูกเพียงอย่างเดียว หากคุณมีเวลาให้ลูกน้อยเกินไป หรือไม่สนใจที่จะเรียนรู้ศึกษาพฤติกรรมของลูก คุณอาจจะไม่ได้สนใจเขาในยามที่เขามีอารมณ์ปกติ สดใสร่าเริง เวลาที่ลูกแสนจะน่ารัก ว่านอนสอนง่าย ไม่งอแงไม่ดื้อ  ช่วงเวลานั้นคุณไม่เคยตอบสนอง ไม่เคยสนใจที่จะเก็บเกี่ยวชื่นชม และสอนให้เขารู้ว่า ทำแบบนี้ถูกต้อง น่ารักมาก ๆ เป็นเด็กดีที่สุดเลย แต่คุณกลับตอบสนองในช่วงที่เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว โวยวาย เขาก็จะรู้สึกเหมือนถูกจับผิด ทำดีไม่เคยชม ไม่เคยเห็น ไม่เคยสนใจ แต่ถ้าทำผิด หรือทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบจะถูกลงโทษตลอด แบบนี้บอกเลยว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงจะไม่ถูกกำจัดไป

 

ครอบครัวได้อะไร จากการเข้ามุม

การลงโทษที่ได้ผลนั้นมีหลักการอยู่ว่า เด็กที่ถูกทำโทษจะต้องได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น รู้ว่าการกระทำของตัวเองส่งผลไม่ดีอย่างไร ส่งผลให้เขาเลิกทำพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์นั้นเสีย ไม่ใช่เป็นแค่การมอบบทลงโทษให้เด็กชดใช้ความผิด โดยที่ไม่ได้เรียนรู้หรือแก้ไขในสิ่งที่ทำลงไปเลย แบบนี้จะไม่ต่างกับการตีหรือดุด่าว่ากล่าว เพราะเด็กจะไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่ทำลงไปเช่นกัน แล้วพฤติกรรมไม่ดีเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด แถมยังติดตัวลูกต่อไปจนถึงวันที่เขาเติบโต ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้ยากยิ่งขึ้นต่อการแก้ไข  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้ลูกอย่างมากพอ เพื่อใช้เวลานี้มอบความรัก ความเข้าใจ และปรับพฤติกรรมลูกไปในตัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีทัศนคติในเชิงบวกติดตัว นำไปสู่การมีพฤติกรรมเชิงบวกต่อไปในอนาคต

 

Auntie
 

บทความอ้างอิง

"Time out" 4 ขั้นตอนปรับพฤติกรรมลูกด้วยการเข้ามุม - August 2023 | Motherhood Thailand

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow